โรงเรียนที่ใช่สำหรับลูกคนอื่น อาจไม่ใช่สำหรับลูกเรา

KanyaweeR

KanyaweeR

นักวางแผนการเงิน CFP®

หลายๆคนมักเข้ามาถามอุ้ยว่า #จะเลือกโรงเรียนไหนให้ลูกดี

เป็นคำถามสั้นๆแต่ตอบยากมากเลยค่ะ ทำไมนะหรอ เพราะเหตุผลในการเลือกโรงเรียนของลูกนั้นมันมีหลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงแค่ เพราะเค้าว่ากันว่าดี หรือการเฮไปจอง เฮไปเข้า ตามกระแส

วันก่อนเพื่อนคนนึงถามว่า รร.ที่ลูกสาวอุ้ยเรียนอยู่ดีไหม
“ก็ดีนะ ทำไมหรอ” (คงมีไม่มากที่จะบอกว่า รร.ที่ลูกตัวเองเรียนจะไม่ดี ว่าไหม)
“อยากให้ลูกเรียน ป.1 ที่นี่อะ”
“พอรู้แนวการเรียนการสอนของที่นี่เนอะ”

คือเอาจริงๆลูกเพื่อนสามารถเข้าที่นี่ได้ไม่ยากเลย ถ้าดูจากพื้นฐานของน้อง และแนวทางการสอนของ รร.อนุบาลที่น้องเรียนอยู่
“แล้วตอนเช้ามาส่งลูกไหวใช่ไหม”

ตอนนี้ลูกเพื่อนอยู่อนุบาล ปกติไปส่งลูกตอนเช้าประมาณ 9 โมง หรือช้ากว่านั้น เคยถามเพื่อนว่า ปกติให้ลูกเข้านอนกี่โมง “ไม่เคยนอนเร็วกว่า 4ทุ่มเลย”

“แล้วคิดว่าจะค่อยๆปรับเวลาการนอนของลูกและตัวเองให้เร็วขึ้น ตื่นเช้าขึ้นได้ไหม”
เพื่อนนั่งนิ่งๆ แล้วยิ้มกลับมา

#ตัวอย่าง1
มีเพื่อนคนนึงในห้องลูกสาวเข้ามาตอน ป.1 ด้วยกัน เนื่องจากบ้านอยู่ค่อนข้างไกล แม่ต้องขับรถมาจอดรถแถวรถไฟฟ้าเพื่อจะนั่ง bts มาลงแถว รร.แล้วเดินต่อมาอีก 10-15 นาที ตอนเย็นก็มารับหลังลูกเรียนกิจกรรมเสริมที่ รร. เสร็จ เดินไปนั่ง bts แล้วขับรถกลับมาบ้านซึ่งกว่าจะฝ่ารถติด ก็ถึงบ้านไม่เคยเร็วกว่า 1ทุ่ม กว่าจะกินข้าว (กินอะไรนิดๆหน่อยๆบนรถ) แล้วทำการบ้าน (ซึ่งก็ไม่ได้เยอะแต่ก็มีเกือบทุกวัน) รีบอาบน้ำนอน ประมาณ 3ทุ่มกว่า วนลูปแบบนี้ทุกวัน จนมาเทอมสอง แม่คนนี้เริ่มเหนื่อย ไม่ไหวละ ตอน ป.2 ก็เลยย้ายไป รร.แถวบ้าน เดินไปเรียนได้ จริงๆก็มีชื่อเสียงพอสมควรนะ แค่ที่แรกดังกว่า จะเห็นได้ว่า เรื่อง #ระยะทาง นั้นสำคัญมาก

#ตัวอย่าง2
เพื่อนของสามีอยากให้ลูกเข้า รร.ชื่อดังแห่งหนึ่งที่มีสัดส่วนการสมัครและการรับเข้า 30:1 พาลูกติวสำนักดังๆ และในที่สุดก็เข้าได้ แต่พอเข้าไปเรียนแล้ว ไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง รู้สึกว่าการไป รร.ของลูกในแต่ละวัน ลูกไม่ได้อะไร สุดท้ายเลยเลือกที่จะย้าย รร. และ ลูกสาวของพี่ที่รู้จักช่วงก่อนเข้า ป.1 ย้าย รร.มาสามรอบ จ่ายค่าเทอมไปเต็ม แต่เรียนไม่ถึงครึ่งเทอม และอีกที่ก็จ่ายค่าเทอมซัมเมอร์ทิ้งไป

ดังนั้น #แนวการเรียนการสอนหรือหลักสูตรของโรงเรียน เราพ่อแม่ต้องหาข้อมูลมาก่อนว่าตรงจริตของเราไหม สอดคล้องกับแนวคิด ปรัชญาการเลี้ยงลูกของเราเองหรือเปล่า จะได้ไม่เสียเวลาและเสียเงินทองโดยเปล่าประโยชน์

#ตัวอย่าง3
มีคนที่เข้ามาปรึกษาว่า อยากให้ลูกเรียน EP หรืออินเตอร์ เพราะอยากให้ลูกได้ภาษา แล้วก็อยากส่งลูกไปเรียนต่างประเทศด้วย เพราะสมัยนี้ภาษาอังกฤษสำคัญมาก (อันนี้เห็นด้วยค่า แต่อุ้ยว่าตอนนี้ภาษาอังกฤษมองว่าเป็นภาษาบังคับที่เราควรจะรู้ เด็กสมัยนี้ถ้าได้ภาษาที่สามหรือสี่ จะได้เปรียบมาก คหสต. นะคะ)

แต่ถามว่าพอทราบเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าเทอมของ รร.เหล่านี้ไหม “ก็รู้ว่าเป็นหลักแสนอะค่ะ” มันยังไม่พอค่า หากอยากให้ลูกเรียนอินเตอร์ มันไม่ใช่แค่หลักแสนต่อปีนะคะ มันหลายแสนต่อปี นอกจากค่าเทอม (tuition fee)แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่าง ค่าลงทะเบียน ค่าตำรา ค่าหนังสืออุปกรณ์การเรียน, ค่าเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม หรือค่าอาหาร ซึ่งไม่รวมอยู่ในค่าเทอม
พี่ท่านนั้นเห็นตัวเลข แล้วตกใจ อุ้ยเลยทำตัวเลขของ EP อีกโรงเรียน ซึ่งไม่ไกลบ้านมากและ สอดคล้องกับ cash flow ของพี่เค้าให้ดู ซึ่งดูจากสีหน้าก็คงเป็นที่ถูกใจ (และเงินในกระเป๋าด้วย) #ค่าเทอม เป็นปัจจัยสำคัญมากนะคะ

แม้จะมี 3 องค์ประกอบใหญ่ๆในการพิจารณาเลือกโรงเรียนให้ลูก

แต่อีกข้อนึงที่สำคัญมาก ก็คือ #ตัวลูกเราเอง แม้โรงเรียนๆหนึ่งจะถูกใจเรา แนวทางการสอนไปในแนวเดียวกับการเลี้ยงลูกของเรา ไม่ไกลบ้าน ค่าเทอมสมเหตุสมผลด้วย แต่ลูกเราชอบที่ๆนั้นไหม เหมาะกับเค้าหรือเปล่า เราควรพาลูกไปเยี่ยมชมดูโรงเรียน พบเจอคุณครูด้วย เด็กบางคนชอบเรียนรู้ผ่านการเล่น บางคนชอบขีดๆเขียนๆ ชอบอ่านหนังสือ หรือบางบ้านอาจจะพบว่าลูกและครอบครัวเหมาะกับ Home school การเรียนแบบอยู่ที่บ้าน หรือหลายคนเรียก บ้านเรียน มากกว่าก็เป็นได้

🔒 ข้อควรพิจารณา 🔒
🔑 ระยะทาง
🔑 หลักสูตรโรงเรียน
🔑 ค่าเทอม
🔑 ตัวลูกเอง

ท้ายที่สุดคุณพ่อคุณแม่เองคงต้องให้นำ้หนักในแต่ละข้อและประเมินว่า โรงเรียนไหนเหมาะกับลูกของเรามากที่สุดค่า

** รร.ที่ใช่สำหรับลูกคนอื่นอาจจะไม่ใช่สำหรับลูกเรา **

#การเงินฉบับคุณแม่ต้องรู้
คุณแม่อุ้ย #KanyaweeR
กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา

อย่าลืมกดติดดาว (See first) เพื่อไม่พลาดเนื้อหาดีดีกันนะคะ ^^

error: มีการป้องกันคัดลอกเนื้อหา