จากประสบการณ์ที่ได้วางแผนการเงินส่วนบุคคลมาร่วม 5 ปี พบว่าแต่ละบุคคลเห็นความสำคัญของการวางแผนการเงินไม่เท่ากัน บางคนก็ไม่ได้สนใจเลย แต่หลายคนก็ตั้งใจและมีวินัยมาก อุ้ยได้รวบรวมสิ่งที่ทำให้การวางแผนการเงินไม่เป็นไปตามที่เราต้ังใจ มีอะไรบ้าง ลองมาดูกันค่ะ
1. ไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
การไม่รู้ว่ามีเงินเข้าออกเท่าไร อาจทำให้เผลอใช้จ่ายเกินกว่าที่มี กระแสเงินสดติดลบได้ โดยทั่วไปเราจะพอตอบเรื่องรายรับได้ เพราะเป็นรายได้ประจำ หรือต้องนำมาคำนวณภาษีกันอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าใช้จ่ายไปแค่ไหน การทำบัญชีจะทำให้เราเห็นช่องโหว่หรือข้อผิดพลาดในการใช้เงิน รู้ว่าเงินหายไปไหน
2. ไม่มีเงินฉุกเฉิน
เงินฉุกเฉิน เป็นเงินก้อนแรกที่เราควรมี เผื่อกรณีขาดรายได้ชั่วคราว แต่รายจ่ายบางอย่างยังคงมีอยู่ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถที่ยังต้องจ่ายทุกเดือน ค่ากินใช้ แต่จะเป็นตัวเลขเท่าไรละ ถ้าไม่เคยทำบัญชี เก็บข้อมูลของตัวเองไว้ ก็จะตอบไม่ได้เลย ในทางทฤษฎีที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่า เผื่อค่าใช้จ่ายตรงนี้ไว้ 3-6 เดือน แต่ในความเป็นจริงขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้เวลาหางานใหม่ได้ในกี่เดือน อย่างกลุ่มอาชีพอิสระ (Freelance) ที่บอกได้ยากว่าจะได้งานเมื่อไร รายได้เข้ามาตอนไหน อาจจะเผื่อไว้นานกว่า 6 เดือนเพื่อความสบายใจก็ได้
3. ไม่ยอมลงทุน
หลายคนเงินเก็บส่วนใหญ่ที่มี อยู่ในบัญชีเงินฝาก คำตอบที่เคยเจอบอกว่าชอบที่จะเห็นตัวเลขในบัญชีมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกอุ่นใจดี แม้จะแค่โยกไปลงทุนในสินค้าการเงินชนิดอื่น อย่างกองทุนรวม ก็ใจหาย เอากับเค้าสิ แต่เคยได้ลองคำนวณกันไหมว่า ด้วยดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี เมื่อไรเงินจะโตทันใช้ แม้จะเฟ้นหาออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง หรือฝากประจำ 2% กว่าๆ ก็ยังแค่เทียบเท่าอัตราเงินเฟ้อเท่านั้นเอง
4. มองข้ามเรื่องเงินเฟ้อ
ต่อจากข้อที่แล้ว แต่ที่แย่กว่าการลืมนึกถึงเงินเฟ้อ คือ หลายคนไม่รู้ว่าเงินเฟ้อ คืออะไร มันเกี่ยวข้องยังไงกับชีวิต ถ้าจะให้อธิบายแบบง่ายๆ เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (แพงขึ้น) นั่นคือ หากเราต้องการซื้อสินค้าชนิดเดิม เราต้องใช้เงินมากขึ้น ในทางกลับกัน ถือเงินเท่าเดิมไปซื้อของ แต่ได้ของน้อยลง ดังนั้นเวลาเราคิดคำนึงถึงเงินที่เราจะใช้สำหรับเกษียณ ซึ่งเป็นเวลาอีกหลายสิบปี เลยต้องคำนึงเรื่องเงินเฟ้อด้วย ไม่งั้นเงินที่เตรียมไว้อาจไม่พอใช้ !!
5. Lifestyle เกินรายรับ
ประเด็นนี้พบเยอะมาก ไม่ว่าจะอายุเยอะน้อย ส่วนใหญ่เป็นเพราะเพื่อนที่มี สังคมที่อยู่ และสมัยนี้สิ่งล่อตาล่อใจเยอะมาก อยู่ที่ไหนก็มีเรื่องให้เสียเงินได้ ค่านิยมบางอย่างที่เราก็เผลอยึดติดไปด้วย พอทำงานไปสักพัก รายได้เร่ิมมีก็ต้องมองหารถคันแรก คอนโดติดรถไฟฟ้า ร้านหรูๆ คาเฟ่ชิคๆก็ต้องไปนั่ง ถ่ายลง FB, IG เดี๋ยวจะตกเทรนต์ หรือแม้แต่ทริปเที่ยวต่างประเทศที่ต้องมี ไม่งั้นจะเชย ปัญหาที่หนักใจนักวางแผนการเงินคือ กลุ่มคนระดับ 40 กว่า 50 หรือระดับ management ที่ภาษีสังคมก็มีไม่น้อย แถมคุ้นชินกับ lifestyle แบบนี้ไปแล้ว จะให้เค้าปรับหรือตัดอะไรไป นี่ไม่ง่ายเลย ถ้าที่ผ่านมาไม่ได้เก็บมาก่อน นี่บอกเลยว่าเคสยากจริงๆ
6. ขาดเป้าหมายในชีวิต
หลายคนเวลาถามว่ามีเป้าหมายในอีก 5 ปี 10 ปี ไหม กลับตอบไม่ได้ เป้าหมายระยะสั้นก็ไม่มี เรื่องงานก็ขอทำไปเรื่อยๆ บางคนก็แฮปปี้กับเย็นวันศุกร์ เป็นทุกข์ค่ำวันอาทิตย์ แต่เชื่อว่าหลายคนมีความฝัน เช่น อยากมีเงินเก็บหลักล้าน อยากมีบ้านหลังใหญ่ แล้วเราจะทำความฝันให้เป็นจริงได้ยังไง ตอบได้เลยว่าลองตั้งเป้าหมายดูค่ะ จะเป็นเป้าหมายเดียวก่อน หรือมีหลายเป้าหมายก็ไม่ว่ากัน แต่ขอแค่เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังก็พอ ที่สำคัญเป้าหมายนั้นต้องระบุชัดเจน วัดผลได้ ทำให้สำเร็จได้ สมเหตุสมผลและเป็นไปได้ และควรกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน เพื่อที่จะรู้ว่าได้ว่าต้องใช้เงินเท่าไร ออมหรือลงทุนกี่ปี ด้วยวิธีใด
7. มองโลกในแง่ดีเกินไป
หลายคนชอบคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนอื่นคงไม่เกิดขึ้นกับเรา เห็นเพื่อนที่ทำงานถูกเลิกจ้างกะทันหัน หรือคนใกล้ตัวประสบอุบัติเหตุร้ายแรง หรือเพื่อนสมัยเรียนจากไปก่อนวัยอันควร คนข้างบ้านโดนขโมยขึ้นบ้าน หลายอย่างอาจจะดูไกลตัวเรา แต่ที่ว่ามาก็ไม่อยากให้มองโลกในแง่ร้าย แต่การมองโลกในแง่ดีเกินไปก็ทำให้เราวางแผนการเงิน วางแผนชีวิตไม่อยู่บนพื้นฐานความจริงก็ได้ เราต้องไม่ประมาทค่ะ
8. ประเมินช่วงการมีชีวิตสั้นเกินไป
เวลาคำนวณเงินเกษียณที่ต้องเตรียม จำเป็นที่จะต้องประเมินช่วงระยะเวลาหลังเกษียณ เช่น ต้ังแต่อายุ 60 จนถึง 80 ปี นั่นคือมีช่วงเวลาใช้เงิน 20ปี ถ้าระยะเวลามาก การเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายก็ต้องมากตามไปด้วย ในการวางแผนเกษียณ เลยมักจะวางเผื่อไว้ ยังไงเหลือก็ดีกว่าขาด มีไม่น้อยที่โวยก่อนเลย โอ๊ย พี่อยู่ไม่ถึงหรอก ถึง 70 ได้ก็เก่งแล้ว แต่ปัญหามันไม่ใช่พี่อยู่ไม่ถึงนะสิคะ ^0^
9. มองเรื่องเกษียณไกลตัว
ถ้าไปถามเรื่องนี้กับเด็กเพิ่งจบปริญญา อาจจะมองว่าเร็วไปไหมพี่ คนกลุ่มเลขหลักสี่หรือเข้าสู่เลขห้า อาจจะเป็นกังวลและสนใจ ก็จริงอยู่ว่าสำหรับคนอายุน้อย ยังมีเวลาให้คิดให้กังวลอีกมาก และนั่นเป็นข้อได้เปรียบ เพราะจะใช้เงินออมที่ไม่มากนัก ก็สามารถงอกเงยเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ เนื่องจากพลังของอัตราดอกเบี้ยทบต้นมาช่วย แต่หากอายุมากแล้ว ระยะเวลาที่น้อยลง ทำให้ต้องออมเงินในจำนวนที่สูงกว่า มีหลายเคสที่ใช้เงินไปกับความสุขระหว่างทางโดยที่ไม่มีเงินเก็บเลย มารู้ตัวอีกทีก็อายุ 50กว่าแล้ว ครั้นจะจัดพอร์ตการลงทุนแบบเสี่ยงสูงเพื่อดันผลตอบแทนก็อาจจะมีข้อจำกัด
10. ขาดวินัยในตัวเอง
ไม่ว่าแผนการเงินจะดีหรือสมบูรณ์แค่ไหน แต่ถ้าไม่นำไปปฏิบัติ หรือทำตามแผนไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี บ่อยครั้งที่เราตั้ง New Year’s resolution คำปณิธานในปีใหม่ ตั้งเป้าหมายว่าในปีใหม่นี้ ต้ังใจจะทำอะไร ลดละเลิกอะไร เช่น ตั้งใจหักเงินลงทุนทุกเดือนเพื่อเกษียณ แต่พอเจอโปรลดกระหน่ำ summer sale เดือนนั้นก็เก็บเงินไม่ได้ ขอช็อปก่อน ขอเที่ยวก่อน เลื่อนการออมออกไปอีก ถ้ารู้ตัวว่าไม่สามารถหักห้ามใจได้ อาจจะสมัครออมแบบตัดบัญชีอัตโนมัติทุกเดือนไปเลย หรือออมเงินในที่ที่เอาเงินออกมาได้ยากก็ได้
“คุณแม่อุ้ย” FinanceForMom
กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา CFP®