ใครๆก็อยากส่งลูกเรียนต่างประเทศ

KanyaweeR

KanyaweeR

นักวางแผนการเงิน CFP®

#ใครๆก็อยากส่งลูกเรียนต่างประเทศ มาลองคำนวณเงินที่ต้องเตรียมกัน

เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษกันอยู่แล้ว และคนส่วนใหญ่ก็คิดไม่ต่างกัน ไม่งั้นเราคงไม่เห็นโรงเรียนอินเตอร์เกิดขึ้นมากมาย โรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนหลายแห่ง เปิดแผนการเรียน English Program กันจนแทบเลือกไม่ถูก เอาจริงๆสมัยนี้ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาที่แค่ควรจะต้องเรียน แต่เราควรสื่อสารได้ ควรใช้ให้เป็น องค์กรหลายแห่งก็ expect ว่าคุณจะต้องได้ การรู้แค่ภาษาไทย ภาษาอังกฤษปัจจุบันมันไม่เพียงพอแล้ว พูดตรงๆ…ธรรมดา สมัยนี้เค้าคิดกันไปถึงจะเรียนภาษาอะไรเป็นภาษาที่ 3 หรือ 4
.
เอาเป็นว่าโพสต์นี้อุ้ยขอพูดถึงภาษาอังกฤษ เพราะหลายเคสที่ได้พูดคุยกัน ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ปกครองที่มีลูกกันทั้งนั้น หลายบ้านก็ให้วางแผนส่งเรียน EP, Inter หรือเอกชนทั่วไป แล้วแต่ budget นอกจากมานั่งเลือก รร.แนววิชาการ แนวบูรณาการแล้ว รร.ที่มีภาษาอังกฤษค่อนข้างเข้มข้น แข็งแรง จะถูกมองเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ แถมหลายที่ก็มีภาษาจีนด้วย พ่อแม่หลายคนชอบ อันนี้คือจากประสบการณ์ตรง สถิติของตัวเองที่เจอเคสมานะคะ
.

ลึกๆแล้วพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็หวังแหละ อยากให้ลูกได้ไปเรียนเมืองนอก หลายบ้านส่งไปซัมเมอร์ลองกูก่อน เอ๊ะ ลูกชั้นจะไหวไหม นอกจาก budget ที่เป็นตัวแปรหลัก ปัจจัยที่รองลงมาก็คือ ติดลูก ห่วงลูก ชีวิตนี้ไม่เคยห่างกันเลย ทำใจไม่ได้ แถมงานบ้านอะไรลูกก็ไม่เคยแตะ ครั้นจะให้ไปอยู่คนเดียว ก็กลัวจะอยู่ไมไ่ด้อีก

ส่วนใหญ่ที่เจอมา ร้อยละ 80 เลยมองไปที่วางแผนเรื่องเรียนตปท.ให้ลูกตอนช่วงปริญญาตรี และปริญญาโท (อย่างหลังจะมากกว่า เพราะส่วนใหญ่อยากให้ลูกได้เรียนตรีในไทย ได้เพื่อน ได้ connection) คือ ไม่มี model ใดถูกผิด คุ้มหรือไม่คุ้ม การวางแผนการศึกษา หรือแม้การเงินแบบองค์รวมเอง เรามองที่ผู้รับคำปรึกษาบรรลุเป้าหมายในส่ิงที่เค้าต้องการ

เกริ่นยาวอีกละ มา..มาเข้าเรื่องกัน วันนี้อุ้ยจะมาแชร์เรื่องการวางแผนการศึกษาบุตร สำหรับพ่อแม่ที่มีโจทย์ว่า ส่งลูกเรียนป.ตรี ตปท.

==============================
✏️ คุณชานม และคุณไข่มุก วางแผนที่จะส่งลูกสาว ปัจจุบันอายุ 2 ขวบเรียนป.ตรี ตปท. เมื่ออายุครบ 18 ปี (อีก 16 ปีข้างหน้า)
หลังจากได้พูดคุยซักถามกันแล้ว จึงทราบว่าหลักสูตรนั้นใช้เงินประมาณ 3,040,000 บาท
ซึ่งหากคิดอัตราเงินเฟ้อไปด้วยที่ 5% ต่อปี ถึงตอนนั้น เงินที่ต้องใช้จะเป็น 6,557,355 บาท

จากการเก็บข้อมูลคุณชานมได้ทำประกันสะสมทรัพย์ฉบับนึง จะมีเงินครบกำหนดออกมาให้กับลูกสาว
จำนวน 1,000,000 บาท ดังนั้น เงินที่ต้องเตรียมจะเหลือ 5,557,355 บาท #แล้วเราจะมีวิธีในการเก็บเงินอย่างไร
.
.
บ้านนี้จะช่วยกันเก็บคนละครึ่ง ปัจจุบันมีเงินในบัญชีฝากประจำที่เก็บเอาไว้ให้ลูกอยู่แล้ว 700,000 บาท (เก็บเงินเก่งมากบอกเลย)
แต่ถ้าเก็บไว้ในบัญชีนี้ต่อไป เงินคงโตไม่ทัน ลูกไม่ได้เรียนแน่ๆ เลยให้ย้ายเงินก้อนนี้ลงในพอร์ตการลงทุน คาดการณ์ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 6%

คำนวณมูลค่าเงินก้อนนี้ที่จะโต อีก 16 ปีข้างหน้า เป็น 1,778,246 บาท
ทำให้ยังขาดเงินอยู่อีก 5,557,355 – 1,778,246 = 3,779,109 บาท

ทั้งคู่ต้องเก็บออมเพิ่มในตอนนี้ โดยจัดพอร์ตการลงทุนให้ใหม่ ผลตอบแทนคาดหวังประมาณ 4.5% ต่อปี และสามารถออมเงินเพิ่มขึ้นได้ปีละ 3% ทุกปี

นั่นคือ ทั้งคู่ต้องช่วยกันออมเงิน
➡️Option 1: ในปีแรก 135,723 บาท เพิ่ม 3% ทุกปี จนปีสุดท้าย ออม 211,452 บาท
➡️Option 2: ออมเท่าๆกันทุกปี ปีละ 166,339 บาทไปก็ได้

(เคสนี้จากตัวเลขงบ ทำได้ทั้งสองกรณี เอาที่สบายใจ … แต่ทั้งคู่ก็เลือกออมเงินเท่าๆกันไปเลย จัดแจงตัดเงินจากบัญชีของทั้งคู่ทุกเดือนลงพอร์ตนี้ไป)

จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่ได้วางแผนอะไรเลย ก็หาเงินไป เก็บไป หาไปใช้ไป เรื่อยๆ ถ้ามีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เงินที่เตรียมนั้นน้อยกว่า 166,339 x 16 = 2,661,424 เทียบกับที่ยังขาด (3,779,109)

และปิดท้ายด้วยแผนคุ้มครองความเสี่ยงอีกนิดหน่อย เพื่อจะ make sure ได้ว่าแม้เราจะอยู่หรือไม่ ลูกได้เรียนตามที่(เราและเค้าต้ังใจ)
=============================
.
แต่ละบ้านแต่ละครอบครัว แนวทางจะแตกต่างกันไป เพราะสินทรัพย์เดิมที่มี และกระแสเงินสดสุทธิที่เหลือในแต่ละปีก็แตกต่างกัน และที่สำคัญต้องคำนึงถึงเป้าหมายอื่นด้วย พ่อก็แสนขยันออก site งานซะจนตัวดำ แถมแม่ก็นั่งทำงานหน้าคอมจนมีห่วงยางรอบเอว (อันนี้แซวๆ 😁😁)ขยันเพื่อลูกขนาดนี้ สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ อย่าลืมเก็บเงินให้ตัวเองด้วย #อย่าเอาเงินเกษียณไปเป็นค่าเรียนลูก
เคสนี้ถือว่าโอเค เงินเกษียณก็ได้เก็บ เงินเรียนลูกก็ได้เริ่ม

สุดท้ายนี้ ก็หวังว่าพอจะเห็นภาพบ้างน้า การวางแผนการเงินมีอะไรที่ต้องคิดไม่น้อยเลย การพูดคุยถึงปัญหาและเป้าหมาย การเก็บข้อมูลและได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนนั้นสำคัญ จึงจะทำให้เราวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใกล้เคียงความจริงที่สุด #EducationPlanning

error: มีการป้องกันคัดลอกเนื้อหา