ค่าเรียนพิเศษค่าใช้จ่ายที่ไม่ไกลตัว (พ่อแม่)

KanyaweeR

KanyaweeR

นักวางแผนการเงิน CFP®

#ค่าเรียนพิเศษค่าใช้จ่ายที่ไม่ไกลตัว (พ่อแม่)

เมื่อพูดถึงการเรียนพิเศษ ไม่ว่าเด็กสมัยนี้หรือสมัยไหนก็คงคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสมัยนี้ อายุของเด็กที่เริ่มเข้ามาสู่การเรียนพิเศษ จะน้อยลงเรื่อยๆ

และแน่นอน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็ต้องรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้

ค่าเรียนพิเศษ หรือค่าเรียนเสริมทักษะต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดแค่ประถมหรืออนุบาล อีกต่อไป แม้แต่ก่อนเข้าวัยเรียน ลูกยังไม่ถึงขวบ ก็พาไปเรียนว่ายน้ำได้แล้ว คลาสกิจกรรมร้องเพลง เต้นรำ เพื่อพัฒนาทักษะ หรือพัฒนาการสมองของเด็ก มีมาให้เลือกหลากหลาย และราคาไม่ธรรมดา บางสถาบัน ชั่วโมงละหลายร้อย หรือแม้แต่ชั่วโมงละเกือบพันก็มี

สมัยนี้เรามีลูกกันช้า และมีลูกกันน้อย จึงไม่แปลกที่พ่อแม่พยายามจะมอบสิ่งที่ดีที่สุด หรือลงทุนกับลูกได้อย่างไม่คิดว่าผลตอบแทนที่ได้รับกลับมาจะคุ้มหรือไม่


บอกก่อนเลยว่าส่วนตัวอุ้ยไม่ได้แอนตี้หรือบอกว่ามันไม่ดีนะ อุ้ยก็เป็นคนนึงที่ตอนลูกเล็กๆพาเค้าไปทำกิจกรรมกลุ่มเหมือนกัน แรกๆก็ไม่รู้ว่าที่ไหนดี แต่อาศัยที่เราพาลูกไปทดลองเรียนก่อน ดูว่าลูกชอบหรือเปล่า เดินทางสะดวกไหม ก็พาลูกไปอยู่แป๊บนึง เพราะเอาจริงๆแม้จะซื้อเป็นแพ็คเกจแต่หารเฉลี่ยรายชั่วโมงออกมาแล้วรู้สึกว่ามันแพงอยู่ดี งั้นกลับมาเล่นกันที่บ้านเหมือนเดิมนะลูก 555 แต่ช่วงที่พาเค้าไปทำกิจกรรมก็ถือว่าดีเหมือนกันนะ แม่ได้ออกไปเปิดหูเปิดตาบ้าง ^0^

อุ้ยค่อนข้างให้ความสำคัญกับช่วง 3ปี แรกของลูกมาก ตอนนั้นอ่านหนังสือเยอะ พอยิ่งรู้ว่ามีงานวิจัยที่บอกว่า “สมองเติบโตสูงสุดถึง 80% ในช่วง 3ปีแรก” เลย input ให้ลูกใหญ่ อ่านหนังสือให้ฟังทุกวัน นอนอ่านกับเค้านี่ละ และเริ่มพูดภาษาอังกฤษกับลูก คนเล็กนี่อุ้ยพูด Eng กับเค้าตั้งแต่ 7 เดือน พูดคนเดียว เป็นอย่างนี้อยู่นาน พอลูกเริ่มพูดได้ ก็โต้ตอบกันจนลูกสื่อสารได้ค่อนข้างดี สำเนียงก็ดี (ตอนนั้นนะ 555)

ถามว่าถ้ามีเงินที่ส่งลูกเรียนได้สบายๆไม่ต้องกังวลอะไร คงให้เรียนควบคู่ไปด้วยแหละ แต่พอมานั่งนึกดูเราก็ประหยัดเงินไปได้มากโขเหมือนกันนะ ได้ใช้เวลาอยู่กับเค้าตลอด ตอนนั้นตัวติดกันมาก ร้ากกกกัน

ในฐานะคุณแม่คนนึง ไม่ได้อ้างอิงงานวิชาการอะไรหรอกนะ อุ้ยคิดว่าตอนเล็กๆส่งเสริมไปเลย พวกภาษา ดนตรี ศิลปะ ถ้าเรามี budget ให้ลูกเรียนได้ เรียนเลย ก็เลือกหน่อย คงไม่ใช่ลงเรียนมันทุกอย่าง ยังไงเวลาคุณภาพพ่อแม่ลูกก็สำคัญที่สุด เราอาจไม่จำเป็นต้องส่งไปตามสถาบันที่เคลมว่าช่วยพัฒนาทักษะสมอง หรือกระตุ้นพัฒนาการทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 ส่วน ตามกระแสเหมือนเพื่อนๆก็ได้ อย่างที่บอก เอาที่ถูกจริตเราและลูก

พอลูกโตขึ้นหน่อย เข้าสู่วัยอนุบาล นอกจากพวกเรียนเสริมพัฒนาการอะไรนี่ละ ผปค.หลายคนตกใจ เอ๊ะ นี่มันมีติวเข้า ป.1 กันด้วยหรอ อันนี้นานาจิตตังค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเพื่อปูความพร้อม หรือเสริมวิชาการวัยประถม อยากให้ดูที่ความจำเป็น ไม่ใช่แค่ตามกระแส ประเด็นหลังนี่เอาจริงๆ ช่วงลูกคนโต เป็นเหมือนกัน พอคนเล็กนี่ไม่ละ เริ่มคิดได้ 😂

ค่าเรียนเสริม หรือ ค่าเรียนพิเศษ ไม่เหมือนค่าเทอมที่จ่ายแค่ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้งถ้า รร.ไหน มี 3 เทอม ยังมีช่วงปิดเทอมให้เหล่าพ่อแม่ได้พักปั๊มเงินกันต่อ แต่ค่าเรียนพิเศษมีให้จ่ายกันได้ทั้งช่วงเปิดเทอม และปิดเทอม เรียนกันได้ตลอดทั้งปี และเด็กหนึ่งคนก็มักไม่ได้เรียนแค่วิชาเดียว บางคนเรียนหลังเลิกเรียนด้วย วันเสาร์หรืออาทิตย์ด้วย แล้วเมื่อเด็กเรียนพิเศษ ก็ยังมีค่าเดินทาง ค่ากิน บวกเพิ่มเข้าไปอีก เด็กโตบางคนถึงกับเข้ามากวดวิชาตามสถาบันชื่อดังในกทม. ค่าเดินทางอาจจะสูงสักหน่อย หรือแม้แต่พ่อแม่ที่เช่าคอนโดให้อยู่ระหว่างเข้ามาติวช่วงปิดเทอมก็ยังมี …รายจ่ายทั้งนั้น

สุดท้ายนี้ แค่อยากจะบอกว่าที่เขียนมาไม่ได้ต้องการมาถกเถียงว่า การเรียนเสริม การเรียนพิเศษดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและปัจจัยของแต่ละบ้าน ไม่มีใครตอบได้นอกจากเราเอง

หากเรารู้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ก็แค่วางแผน และเตรียมการให้ดี
#ด้วยรัก

error: มีการป้องกันคัดลอกเนื้อหา