วางแผนการเงินไปทำไม ทุกวันนี้ก็มีใช้อยู่แล้ว

KanyaweeR

KanyaweeR

นักวางแผนการเงิน CFP®

#ทำไมต้องวางแผนการเงิน
เชื่อว่าก็ยังคงเป็นคำถามที่นักวางแผนการเงินหลายๆคน ถูกถามอยู่ สำหรับอุ้ยเอง ต้องยอมรับว่าสมัยก่อน ย้อนกลับไปเมื่อ 4ปีที่แล้ว คนรอบตัวไม่น้อยเลยที่ยังคงไม่เข้าใจ ก็แหม รุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือปู่ย่าตายาย ไม่เห็นจะต้องมานั่งวางแผน คิดถึงอนาคตกันยาวๆเลยนี่

แม้ปัจจุบันนี้คนเข้าใจกันเยอะขึ้น เห็นความสำคัญมากขึ้น แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ถึงเหตุผลจริงๆ อาจจะรู้แค่ว่า โอเค มันสำคัญนะ แล้วมันสำคัญยังไง วันนี้อุ้ยจะมาบอกให้ฟังค่ะ

1. #คนไทยอายุยืนขึ้น
ปัจจุบันเทคโนโลยีและความรู้ทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น ทำให้อายุขัยเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 75-80ปี

คนส่วนใหญ่จะเกษียณกันตอนอายุ 55-60ปี ไม่นับรวมบางคนที่อยากจะเกษียณก่อน (early retire)เพื่อตามหา passion หรือเพื่อทำความฝันอะไรก็ตาม เคยคิดกันบ้างไหมว่า ช่วง20-30ปี หลังเกษียณนี้จะมีเงินพอใช้กันไหม??


2. #โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป
ต้องยอมรับเลยว่าสมัยนี้คนแต่งงานกันช้า มีลูกกันช้า แถมมีน้อยลง และนิยมแยกเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อนที่นิยมมีลูกเยอะ และอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ มีปู่ย่าตายาย หรือพี่น้องอยู่รวมกัน

เมื่อผู้สูงอายุมากขึ้น อัตราการเกิดน้อยลง เลยทำให้มีประชากรวัยทำงานน้อยลง เทียบกับคนแก่/ผู้สูงอายุหนึ่งคน นั่นคือคนแก่ (อีกหน่อยเราก็แก่กันทุกคนเนอะ) ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น จะมาหวังให้ลูกหลานเลี้ยงแบบเดิมคงไม่ได้ (แค่เอาตัวเองรอดยังไม่ง่ายเล้ยย)


3. #ค่าครองชีพที่สูงขึ้น
อันนี้ทุกคนคงสัมผัสได้ ด้วยราคาข้าวของที่แพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือที่หลายๆคนชอบเปรียบเทียบให้เห็นถึงราคาก๋วยเตี๋ยวชามนึง สมัยก่อนตอนอุ้ยเรียนก็ชามละ 20-25บาท ตอนนี้ก็ 40-50บาท อันนี้ราคาตามรถเข็นทั่วไปนะคะ แล้วอีกหน่อยละ ตอนสมัยลูกพวกเราเข้าเรียน มันจะเท่าไหรกันหนอ จะถึงร้อยไหม อันนี้ก็น่าหวั่นใจ

ซึ่งตัวอย่างที่ว่ามาก็คือ พูดถึง “อัตราเงินเฟ้อ” นั่นเอง คำนี้ใครไม่รู้จักนี่คือเชยมากนะคะ 555 นั่นคือ เมื่อเราเก็บเงินแล้วไม่ได้คำนึงถึงข้อนี้ เงินที่เก็บเพื่อเกษียณก็ดี หรือเพื่อเป้าหมายอะไรในอนาคต มันอาจะไม่พอได้ค่ะ


4. #สวัสดิการของรัฐไม่เพียงพอ
ไม่ว่าจะเป็นเงินประกันสังคมที่ถูกหักไป หรือภาษีที่เราต้องจ่าย จากเหตุผลด้านบน เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าประชากรวัยสูงอายุจะมีเพิ่มมากขึ้น แล้วเงินของรัฐจะเพียงพอเพื่อจัดหาสวัสดิการหรือดูแลคนวัยเกษียณหรือ?

ยกตัวอย่างเงินประกันสังคม หากเงินเดือน15,000บาท ถูกหักเดือนละ 750บาท รู้ไหมคะว่าแค่ 3% หรือ 450บาท ที่เป็นเงินสมทบกรณีชราภาพ (เงินเกษียณเรานั่นแหละ) หากเราจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180เดือนขึ้นไป เราก็จะมีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญตั้งแต่ 3,000บาท ต่อเดือนเชียวนะ อุ้ยว่าเยอะมากถ้าเทียบกับเงินที่เราส่งไป (แล้วกองทุนประกันสังคมจะไหวไหมนะ น่าคิด)


5. #ผลิตภัณฑ์ทางการเงินซับซ้อนมากขึ้น
สมัยก่อนเชื่อได้เลยว่า รุ่นพ่อแม่เรามีเงินก็เอาไปฝากแบงค์ ก็แหม สมัยก่อนดอกเบี้ยธนาคารมันเลขสองหลัก ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องคิดว่าจะลงทุนอะไรดี แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้วละ ดอกเบี้ยเงินฝากอันน้อยนิดที่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อเสียอีก แล้วเงินเราจะโตได้ยังไง

สมัยนี้ตัวเลือกในการลงทุนมีมากมาย ทั้งหุ้น กองทุนรวม (อีกหลายร้อยกอง และหลากหลายประเภท) รวมทั้งการลงทุนทางเลือกอย่างตราสารอนุพันธุ์ เมื่อความเสี่ยงต่าง ผลตอบแทนก็ต่างกันไป มันเลยเป็นที่มาที่เราต้องวางแผน และหาที่อยู่ให้เงินของเราไงคะ


6. #บริหารความเสี่ยงของชีวิต
เพราะเราไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไร ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เราไม่รู้เลยว่าจะถูกให้ออกจากงานวันไหน น้ำจะไม่ท่วมบ้าน รถจะไม่เสีย ดังนั้นการมีเงินสำรองฉุกเฉิน (ซึ่งถือเป็นเงินก้อนแรกที่เราควรมีในการวางแผนการเงิน) จึงจำเป็น

หากคนในครอบครัวหรือแม้แต่ตัวเราเองเกิดเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ การสำรองเงินเป็นค่ารักษาพยาบาลหรือการทำประกันสุขภาพ และอุบัติเหตุไว้ ย่อมช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายได้


เขียนมาซะยืดยาว อุ้ยหวังว่าคงทำให้หลายคนเห็นความสำคัญของการวางแผนการเงินมากขึ้นะคะ ^^

error: มีการป้องกันคัดลอกเนื้อหา