กระปุก 3 ใบ ของนักออมรุ่นจิ๋ว

KanyaweeR

KanyaweeR

นักวางแผนการเงิน CFP®

#กระปุก3ใบของนักออมรุ่นจิ๋ว

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนคงเคยได้ยินทฤษฎีการออมเงินของ T Harv Eker หรือ “JARS Money management system” โดยการแบ่งเงินเป็น 6 ส่วน ใช้ขวดโหล 6 ใบเป็นสัญลักษณ์ กันมาบ้างแล้ว

แต่ถ้าเป็นเด็กๆ เราสามารถให้เค้าเริ่มต้นการออม ฝึกการบริหารเงินโดยแบ่งเงินเป็น 3 ส่วนได้ นั่นก็คือ

🎈#Spend เงินส่วนที่เอาไว้ใช้จ่าย ไม่ว่าจะไว้ซื้อของให้ตัวเอง ของเล่นที่อยากได้ ขนมที่อยากกิน เงินซื้อของขวัญวันเกิดให้เพื่อน หรือ คนในครอบครัว หรือสะสมเอาไว้ซื้อของชิ้นใหญ่หน่อย เช่น รถบังคับคันใหม่ ชุดเลโก้ที่อยากได้ หรือสิ่งของอื่นๆที่เด็กชอบ

*** “Spending jar” is for short term needs and medium term wants. ***

🎈#Save เงินส่วนนี้เป็นเงินที่เก็บไว้นานพอเพื่อให้มันโต ให้ลูกสะสมไว้สม่ำเสมอ แล้วเอาไปฝากธนาคารเมื่อกระปุกเต็มแล้ว หรือแล้วแต่คุยตกลงกันว่าจะไปเมื่อไร ถี่แค่ไหน คุณแม่อาจจะแบ่งไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นด้วยก็ได้ เช่น สลากออมสิน กองทุนรวม หรือพอร์ตหุ้น ซึ่งสองประเภทหลัง มักจะต้องเป็นบัญชีชื่อผู้ปกครอง

สิ่งสำคัญคือ ลูกจะต้องไม่หยิบเงินในกระปุกนี้ไปใช้ ส่วนระยะเวลาจะนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก และการตกลงร่วมกันในแต่ละบ้าน

*** “Saving jar” is for long term wants. ***

🎈#Share เงินส่วนนี้เป็นเงินที่เอาไว้แบ่งปันให้ผู้อื่น ช่วยเหลือสังคม เงินบริจาค หรือแล้วแต่ตกลงกันในแต่ละครอบครัว การยกตัวอย่างให้ลูกฟังอาจจะทำให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น เงินช่วยเหลือกิจกรรมหรืองาน รร./ เงินที่เอาไปซื้อของเล่นเพื่อมอบให้ผู้ป่วยเด็กใน รพ. / เงินบริจาคให้โบสถ์หรือ ทำบุญที่วัด/ เงินซื้อเครื่องเขียนอุปกรณ์การเรียนส่งไปให้นักเรียนบนดอย/ เงินช่วยเหลือเพื่อนๆในห้องเมื่อครอบครัวเค้าเดือดร้อน เป็นต้น

จุดประสงค์หลักของเงินส่วนนี้ คือ ยังมีคนจำนวนหนึ่งในสังคมที่ยังเดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลือ หากเรามีเหลือ หรือมีมากพอ เราสามารถแบ่งปันได้ เผื่อแผ่ได้ และไม่ให้ไปเพื่อหวังสิ่งใดตอบแทน

*** Do not expect anything in return for “Sharing jar”. ***

💚 สำหรับสัดส่วนในแต่ละโถเงิน/กระปุกนั้น ในต่างประเทศก็มีระบุสัดส่วนมาเป็น guideline คร่าวๆ แต่แม่อุ้ยว่า เราลองมานั่งคุยกันพร้อมลูกดีกว่าค่า เพราะแต่ละบ้านก็ให้ค่าขนมลูกไม่เท่ากัน ลูกต้องซื้อข้าวทานที่ รร.ไหม หรือมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง มีสิ่งที่อยากได้หรือเป้าหมาย (savings goals) อะไรหรือเปล่า


ยกตัวอย่างบ้านนี้ค่า อุ้ยยื่นกระดาษให้ลูกทั้งสองคนลองนั่งคิด โดยสมมติว่ามีเงิน 100 บาท ก็เล่าให้ฟังว่าแต่ละส่วนหมายความว่าอะไร มีไว้เพื่ออะไร ให้เค้าทั้งสองคนเขียนตัวเลขออกมา ก็ไม่เท่ากันหรอกค่า

🙋‍♂️พี่เคนตะ (40:50:10) 🙋‍♀️น้องมีมี (20:60:20)

จากการสังเกต แอบเห็นคนเล็กเขียนเลข60 ก่อนเลย เป็นเพราะเค้าไม่ค่อยได้ใช้เงินด้วยละ เลขSpend เลยน้อย ต่างกับคนโตที่เขียนเลข Spendก่อน อุ้ยพอรู้มาบ้างว่าคนโตมีสิ่งที่เค้าอยากได้ แต่ก็ดีใจที่สองพี่น้องตั้งใจเก็บเงินในส่วน Save มากทั้งคู่

error: มีการป้องกันคัดลอกเนื้อหา